7 ค่าผลเลือดสำคัญ ที่ผู้ป่วยโรคไตต้องดูเป็น

“ผลเลือด” เป็นอะไรที่ผู้ป่วยโรคไต เห็นกันอยู่เป็นประจำ บางคนก็เห็นทุกเดือน บางคนเห็น 2 หรือ 3 เดือนครั้ง ก็แล้วแต่คุณหมอจะนัด ซึ่งเวลาถึงวันเจาะเลือดทีไร เราก็มักจะแอบลุ้นทุกทีเลยใช่ไหมคะ ว่าผลจะเป็นยังไง (เหมือนลุ้นหวยกันเลยทีเดียว)

เลยเรียกได้ว่าการเข้าใจ ผลเลือด จึงเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวผู้ป่วยโรคไตมาก ๆ แถมยังเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการรักษาของคุณหมออีกด้วย เพราะการรักษาจะราบรื่นได้ ไม่ใช่แค่คุณหมอแค่ฝ่ายเดียว แต่มันขึ้นกับตัวผู้ป่วยอย่างเราด้วยเช่นกัน

บทความนี้อายเลยมาสรุป 7 ค่าผลเลือดสำคัญที่ผู้ป่วยโรคไตต้องดูเป็น ให้เข้าใจง่าย ๆ เอาไปใช้ได้จริงมาฝากกันค่ะ

blood2

 

1.ค่า BUN บอกอะไรเรา ?

BUN หรือชื่อเต็ม ๆ คือ Blood Urea Nitrogen เป็นการวัดค่าไนโตรเจนจากยูเรีย ที่อยู่ในกระแสเลือดเพื่อตรวจดูการทำงานของไตและตับ แต่เป็นการดูแบบหยาบ ๆ เท่านั้น ถ้าจะให้แม่นยำขึ้นต้องดูร่วมกับค่าอื่น

อย่างเช่น ค่า Creatinine โดยไนโตรเจนที่ว่านี้ จะได้จากการย่อยโปรตีนที่เรากินเข้าไป แล้วเปลี่ยนไปเป็นสารแอมโมเนีย

จากนั้น จะผ่านกระบวนการในร่างกาย จนสุดท้ายจะได้ของเสียที่ชื่อว่า “ยูเรีย” ซึ่งยูเรียที่ได้ จะถูกขับออกมาทางไตพร้อมกับน้ำปัสสาวะ ปัสสาวะของเราก็เลย มีกลิ่นแอมโมเนียอยู่ด้วยนั่นเอง

แล้วยิ่งใครกินเนื้อสัตว์เยอะ ๆ กลิ่นปัสสาวะก็จะยิ่งแรงขึ้น ยิ่งแรงเท่าไหร่ ก็เป็นตัวบอกว่า ไตกำลังทำงานหนักเท่านั้น โดยปกติแล้ว     ผู้ป่วยโรคไต จะมีค่า BUN สูงกว่าคนปกติ เพราะ ไตเสื่อมเลยกรองออกไม่หมด ซึ่งโดยเกณฑ์ปกติในผู้ใหญ่จะอยู่ที่ 10-20 mg/dL

แต่ BUN จะมีค่าไม่คงที่ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ดื่มน้ำน้อยไป (ร่างกายขาดน้ำ), กินโปรตีนมากเกินไป, ผลข้างเคียงจากยา

วิธีลดค่า BUN สำหรับผู้ป่วยโรคไต (เพื่อชะลอไตเสื่อม)

1. ลดกินเนื้อสัตว์ ที่ย่อยยาก
2. ดื่มน้ำให้มากขึ้น
3. เน้นกินโปรตีนคุณภาพดีย่อยง่าย

blood3

 

2.ค่าไตรกลีเซอไรด์ บอกอะไรเรา ?

ค่านี้ ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ เลย ก็คือ “ปริมาณไขมันที่แท้จริง” ซึ่งจะให้พลังงาน 9 แคลอรี่ต่อกรัม และเป็นแหล่งพลังงานสำรองของร่างกาย ซึ่งค่านี้เป็นผลรวมของสิ่งที่เรากินเข้าไป เช่น กินไขมัน โปรตีน แป้ง และน้ำตาล ที่มากเกินไป ทำให้ค่านี้สูงขึ้น

ที่สำคัญ พอไตเสื่อมร่างกายจะผลิตไขมันออกมา มากกว่าคนปกติทั่วไป และต่อให้กินไขมันน้อย ร่างกายก็ยังผลิตออกมาเรื่อย ๆ       ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตจึงมักได้รับ ยาลดไขมัน มาทานกัน

โดยเกณฑ์ปกติในผู้ชาย จะอยู่ที่ 40-160 mg/dL , ในผู้หญิง จะอยู่ที่ 35-135 mg/dL คนที่ไตเสื่อม ค่านี้จึงจะสูงกว่าเกณฑ์ปกติ
**การตรวจวัดค่าไตกลีเซอไรด์ที่แม่นยำ จำเป็นต้องงดอาหารอย่างน้อย 12-14 ชั่วโมงด้วยนะคะ**

วิธีลดค่าไตรกลีเซอไรด์

1. ลดกินเนื้อสัตว์ ที่ย่อยยาก
2. ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม
3. อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
4. เน้นกินโปรตีนคุณภาพดีและย่อยง่าย อย่างเช่น ไข่ขาว เน้ือปลาที่มีสีขาว เพื่อชะลอไตเสื่อม

blood4

 

3.ค่า Creatinine บอกอะไรเรา ?

Creatinine ในผลเลือด เป็นค่าที่ใช้ดูการทำงานของไตที่แม่นยำที่สุดในตอนนี้ มีชื่อเต็มว่า “ครีเอตินิน ฟอสเฟต” สาเหตุที่ค่านี้แม่นยำในการดูการทำงานของไต ก็เพราะครีเอตินิน เป็นของเสียที่มาจากการใช้กล้ามเนื้อในร่างกายเราเท่านั้น (รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจ) จึงไม่ถูกรบกวนจากอาหารที่กิน และ การทำงานของตับและที่สำคัญก็คือ ครีเอตินินถูกกำจัดออกทางไต เท่านั้น

แล้วทำไม เป็นโรคไตแล้วค่านี้ถึงสูง ?

เปรียบเทียบง่าย ๆ นะคะถ้าเป็นคนปกติ ไตไม่เสื่อม พอครีเอตินินถูกผลิตออกมา 100% ก็จะถูกไตกำจัดออกไป 100% เลย ส่วนคนที่ไตเสื่อม ถึงร่างกายจะผลิตออกมาเท่ากัน 100% แต่จะถูกกำจัดออกได้ไม่หมด พอออกไม่หมด ส่วนที่เหลือ ก็เลยไปสะสมอยู่ในเลือดมากขึ้น พอคุณหมอสั่งเจาะเลือดตรวจ คนที่ไตเสื่อมจึงมี “ค่านี้สูงผิดปกติ”

เกณฑ์ปกติ

ผู้ชาย : 0.6-1.2 mg/dL
ผู้หญิง : 0.5-1.1 mg/dL

*ค่านี้ต้องเอาไปเข้าสูตรเพื่อคำนวณต่อ ให้กลายเป็นค่า GFR หรือ eGFR เพื่อดูว่าเป็นโรคไตระยะไหน นั่นเองค่ะ*

ถ้าค่า ครีเอตินิน สูง GFR ก็จะลดลงตามไปด้วย (พูดง่าย ๆ คือ ไตเสื่อมลง นั่นเอง) แปลว่า ผู้ป่วยโรคไตที่มีค่านี้ เกินจากเกณฑ์ปกติไปมากก็จะต้องฟอกไต

ถ้าอยากลดค่า ครีเอตินิน  เพื่อชะลอไดเสื่อม วิธีนึง ก็คือ…ให้เลี่ยงการทานโปรตีนที่มาจากเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว หรือ หมูเนื้อแดง ควรทานเนื้อสีขาว ๆ อย่าง เนื้อปลา ไก่ กุ้ง และ ไข่แทน เพราะ เนื้อที่มีสีแดงเหล่านี้ ก็เป็นแหล่งของครีเอตินินเช่นกัน

blood5

 

4.ค่า โคเลสเตอรอล บอกอะไรเรา ?

โคเลสเตอรอล เป็นสารคล้ายกับไขมัน ที่ปกติ 70% ร่างกายเราสร้างขึ้นมาได้เอง และ 30% ได้รับมาจากอาหารที่เรากินเข้าไป ถึงแม้เวลาเจาะเลือด โคเลสเตอรอลจะจัดอยู่ในหมวดไขมัน (Lipid Profile) แต่เพราะโคเลสเตอรอล ไม่ได้ให้พลังงานก็เลยไม่นับว่าเป็นไขมัน ประโยชน์ของโคเลสเตอรอล เช่น..

> ช่วยในการดูดซึมวิตามิน A, D, E, K
> ใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์วิตามิน D ขึ้นมาใช้ 
> ใช้ผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ หลายตัว โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ
> เป็นสารสำคัญในระบบประสาทและสมอง 

โดยค่าที่อยู่ในเกณฑ์ สำหรับผู้ใหญ่ คือน้อยกว่า 200 mg./dL.

โคเลสเตอรอลที่ต่ำเกินไป อาจแปลได้ว่า…มีการขาดวิตามิน A D E K , ขาดสารอาหาร, ฮอร์โมนผิดปกติ , ความจำไม่ดี หรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน ส่วนถ้าสูงเกินไป ก็อาจทำให้เส้นเลือดอุดตันได้ ซึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคไต ที่ฟอกไตต้องระวังอย่างยิ่ง เพราะเราต้องดูแลเส้นเลือดให้ดี รวมถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

โดยปกติแล้ว ใครที่เป็นโรคไต ค่านี้จะมีแนวโน้มค่อนไปทางสูง เพราะ…พอไตเสื่อม จึงทำให้เกิดความผิดปกติ  ของ “Lipoprotein” และต่อมอะดรีนัล ทำให้ร่างกายผลิตโคเลสเตอรอลออกมาใช้มากเกินไป

ดังนั้น ต่อให้เรากินอาหารที่ไม่มีโคเลสเตอรอลเลยสักนิด ร่างกายก็ยังผลิตออกมาใช้ อีกประมาณ 70% อยู่ดี คุณหมอถึงต้องจ่ายยาลดไขมันมาให้เรากินนั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้ค่านี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แนะนำให้ทานยาลดไขมันอย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะ

เทคนิคลดโคเลสเตอรอล จากการกิน

1. เน้นกินอาหารที่มาจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว ผัก ผลไม้
2. ลดกินเครื่องใน และเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น มันหมู หมูสามชั้น ขาหมูติดมัน หนังเป็ดพะโล้
3. เลี่ยงการกินไขมันทรานส์ ที่มักเป็นส่วนผสม ในขนมคุณภาพต่ำ และพวกน้ำมันทอดซ้ำ

blood6

 

5.ค่า Hct บอกอะไรเรา ?

Hct เป็นตัวย่อของ Hematocrit (อ่านว่า ฮีมาโตคริต) เป็นค่าที่บ่งบอกว่าตอนนี้เรามีภาวะซีดอยู่หรือเปล่า หรือเรียกว่า เป็นค่าความหนาแน่นของเม็ดเลือดแดง ที่อยู่ในน้ำเลือดเรา ซึ่งค่านี้ จะได้มาจากการแยกเม็ดเลือดแดง ออกจากน้ำเลือด ด้วยการปั่น แล้วดูปริมาณเม็ดเลือดแดงที่อยู่ในน้ำเลือด โดยค่าที่ได้จะออกมาเป็น % ค่ะ

ค่าที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ผู้ชาย : 42-52%
ผู้หญิง : 37-47%

ถ้าต่ำกว่าเกณฑ์ ก็แปลว่า ซีด นั่นเอง …แล้วทำไม เป็นโรคไตถึงซีดบ่อย ? 

เพราะ ไตของเรา ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน erythropoietin (อ่านว่า อีรีโทรโพอิติน) มีชื่อเล่นว่า EPO (อีโป้) ให้ไปกระตุ้นไขกระดูก เพื่อสร้างเม็ดเลือดแดงออกมา พอไตเสื่อม ฮอร์โมนนี้จึงมีน้อยลงไขกระดูกก็เลย สร้างเม็ดเลือดแดงน้อยตาม ทำให้ Hct ต่ำลง

แล้วถ้าซีดต้องทำยังไง ?

ปกติคุณหมอ มักจะให้เรากินยาหรือวิตามินบำรุงมาทาน เช่น โฟลิค หรือ ธาตุเหล็ก เพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง แต่ใครที่ไตเสื่อมมาก คุณหมอก็จะสั่งฉีด ฮอร์โมน EPO แทน ใครที่ซีดหนัก ๆ อาจจะเป็นการให้เลือดแทน

ส่วนจะเป็นวิธีไหน ก็ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน ซึ่งคุณหมอจะเป็นคนบอกเราเอง เพราะ ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ จะเป็นอันตรายได้ อย่างเช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ติดเชื้อง่าย แผลหายช้า หมดสติ เป็นต้น เราก็ควรทำตามที่คุณหมอบอก เพื่อจะได้ไม่มีอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงนะคะ ❤

5 ผลเลือด2

 

6.ค่าพาราไทรอยด์ (PTH) บอกอะไรเรา ?

พาราไทรอยด์ เป็นฮอร์โมนที่ควบคุม และดูแลกระดูกทุกชิ้นในร่างกายเรา (หรือเรียกว่าเป็นตัวบงการแคลเซียม) โดยต่อมที่ปล่อยเจ้าฮอร์โมนนี้ออกมา มีชื่อว่า ต่อมพาราไทรอยด์ ซึ่งอยู่บริเวณกลางลำคอ และมีทั้งหมด 4 ต่อมด้วยกัน หากต่อมใดต่อหนึ่งถูกตัดออก ก็จะยังสามารถทำงานได้อย่างปกติแต่ต่อมที่เหลือก็จะทำงานหนักขึ้นหน่อย

ค่านี้มักจะสูงกันในผู้ป่วยฟอกไต (ทั้งที่ฟอกทางหน้าท้องและฟอกด้วยเครื่อง) ที่มีฟอสฟอรัสในเลือดสูงนาน ๆ

แล้วทำไมเป็นผู้ป่วยฟอกไต ถึงมีค่า PTH สูงกว่าคนปกติ ?

พอไตเสื่อม เลยทำให้ร่างกาย ไม่สามารถดูดแคลเซียมกลับเข้ามาใช้ได้ เพราะแคลเซียมที่เรากินเข้าไป จะถูกขับทิ้งทางปัสสาวะไปหมด จึงทำให้แคลเซียมในเลือดต่ำลง ฮอร์โมน PTH เลยถูกปล่อยออกมา เพื่อสลายกระดูก แล้วเอาแคลเซียมจากกระดูกมาใช้งานแทน และนี่ล่ะค่ะ ที่เป็นเหตุให้เรากระดูกพรุนได้ (กระดูกจะบางและหักง่าย)

หรืออีกสาเหตุนึง คือ ภาวะขาดวิตามินดี เนื่องจากไตเป็นตัวผลิตวิตามินดี พอไตเสื่อม ร่างกายจึงผลิตวิตามินดีออกมาใช้เองได้น้อยวิตามินดีในเลือดจึงต่ำ ซึ่งในบางคนที่ค่าต่ำมาก คุณหมอก็จะสั่งวิตามินดีมาให้ทานด้วยนั่นเอง

โดยเกณฑ์ปกติค่านี้ จะอยู่ที่ 10 – 65 pg/dL

สำหรับคนที่ไตเสื่อม
ระยะ 3 ค่าจะอยู่ที่ 35-70
ระยะ 4 ค่าจะอยู่ที่ 70-110
ระยะ 5 ค่าจะอยู่ที่ 150-300

แต่ถ้าค่า PTH ของใครน้อย ก็อาจแปลได้ว่า เคยผ่าต่อมพาราไทรอยด์มาก่อน , มีการทานวิตามินดีที่มากเกินไปหรืออาจมีปัญหาเกี่ยวกับไขกระดูก

วิธีลดค่าพาราไทรอยด์

> ควบคุมระดับฟอสฟอรัสในเลือด
เพราะถ้าฟอสฟอรัสสูง ค่า PTH ก็จะสูงตามโดยถ้าค่า PTH ขึ้นถึงหลักพัน ก็อาจจะต้องผ่าตัดเอาต่อมนี้ออกไปเพื่อลด PTH ให้ต่ำลง ลดการสลายกระดูกออกมาใช้งานมากเกินไป **สังเกตได้จากผิวที่คล้ำลงเรื่อย ๆ และมีอาการคันยิบ ๆ

> ทานวิตามินดี ตามที่คุณหมอบอกอย่างสม่ำเสมอ

** สรุปความสัมพันธ์อีกครั้ง ให้จำกันง่าย ๆนะคะ
ถ้า PTH สูง => ฟอสฟอรัสสูง , แคลเซียมต่ำ , วิตามินดีต่ำ
ถ้า PTH ต่ำ => ฟอสฟอรัสต่ำ , แคลเซียมสูง , วิตามินดีสูง

เบาหวาน4

 

7.ค่า HbA1c บอกอะไรเรา ?

HbA1c (อ่านว่า ฮีโมโกลบิน เอวันซี) เป็นค่าที่ใช้ตรวจการเป็นเบาหวานที่แม่นยำตัวนึง โดย Hb ก็หมายถึง เม็ดเลือดแดง ซึ่งมีอยู่ในตัวเราอยู่หลายชนิด แต่ชนิด A1c จะเป็นตัวที่เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคเบาหวาน เราเลยสนใจตัวนี้กัน ยิ่งค่านี้ มีค่ามากเท่าไหร่ ก็แปลได้ว่า มีน้ำตาลไปเกาะเม็ดเลือดแดงมากเท่านั้น

โดยการตรวจที่แม่นยำที่สุด คือตรวจย้อนหลังไปประมาณ 3 เดือน แล้วจะได้เป็นค่าเฉลี่ยของน้ำตาลสะสมออกมา ว่ามีความผิดปกติหรือไม่

ที่สำคัญ ค่านี้ ช่วยการวินิจฉัยได้ว่า ผู้ป่วยเป็นเบาหวานหรือไม่ ได้แม่นยำกว่าการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด แบบงดอาหาร 8 ชั่วโมงขึ้นไป ที่เรียกว่า Fasting blood sugar(FBS) อีกด้วย เพราะเจาะแบบ FBS จะดูได้เพียงระยะสั้น ๆ ส่วนใหญ่ เรามักจะมาคุมเข้มกันตอนใกล้หาคุณหมอ ไม่ได้ดูแบบสะสมในระยะยาว 3 เดือนแบบ HbA1c จึงเชื่อถือได้มากกว่า

สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วยควรดูค่านี้กับค่าน้ำตาลในเลือดมากเป็นพิเศษ
เพราะ หากค่าเหล่านี้สูง ไตจะยิ่งเสื่อมเร็วขึ้นนั่นเองค่ะ **

สำหรับคนปกติ ไม่เป็นเบาหวาน ค่านี้จะอยู่ที่..

ผู้ใหญ่ : ค่าจะอยู่ที่ 2.2 – 4.8%
เด็ก : ค่าจะอยู่ที่ 1.8 – 4%

คนที่เป็นเบาหวานแล้ว ถ้าค่า 2.5 – 5.9% ถือว่าควบคุมได้ดี,  6 – 8% ถือว่าพอใช้, มากกว่า 8% ขึ้นไป ถือว่ายังควบคุมได้ไม่ดี

**ส่วนคนที่เป็นโรคไตจากเบาหวานค่านี้มักจะ “ต่ำกว่า” เกณฑ์ปกติ เพราะเมื่อไตเสื่อม ทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงออกมาได้น้อยลง ก็เลยต้องมีการฉีดยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด ทำให้ HbA1c มีปริมาณน้อยลงไปด้วย ส่วนในทางกายภาพ ถ้าผู้ป่วยคุมน้ำตาลได้ดี

พฤติกรรมการตื่นมาปัสสาวะกลางดึกก็จะน้อยลง หรือแทบไม่มีเลย อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการน้ำตาลในเลือดต่ำ จะทำให้หน้ามืด หมดสติ

**ซึ่งสำหรับผู้ป่วยฟอกไต หลังฟอกมักมีอาการนี้ เพราะเครื่องฟอกดึงน้ำตาลในเลือดออกไปด้วย

แต่ถ้าอาการน้ำตาลในเลือดสูง ก็จะทำให้เหนื่อยหอบ เลือดเป็นกรดจากคีโตน หรือทำให้หมดสติได้เช่นกันวิธีดูแลตัวเอง สำหรับคนเป็นโรคไตที่เกิดจากเบาหวาน คลิ๊กเข้าไปอ่านต่อได้ ที่นี่ ค่ะ

blood7

 

สรุป

เป็นยังไงบ้างคะ อายคิดว่า ตอนนี้เพื่อน ๆ คงเข้าใจที่มาที่ไปของค่าผลเลือดต่าง ๆ ที่แสดงในใบผลเลือดกันแล้วใช่ไหมคะ ทีนี้เวลาจะคุยกับคุณหมอ หรือสงสัยว่า เอ.. ทำไมเราต้องคุมอาหารบางอย่างเพิ่มขึ้น-ลดลง หรือ ทำไมต้องกินยาตัวนั้นตัวนี้ มันเพื่ออะไรกัน ตอนนี้คงหายสงสัยกันแล้วใช่ไหมคะ

ถ้าเราเข้าใจได้แบบนี้ อายเชื่อว่ายังไงเราก็ใช้ชีวิตประจำวันได้ราบรื่นขึ้นแน่นอน แถมเราจะดูแลตัวเอง ควบคุมตัวเองได้โดยที่ไม่รู้สึกอึดอัดและรู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำบางอย่างโดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย ลองเอาข้อมูลในบทความนี้ ไปเปรียบเทียบค่าต่าง ๆ ในผล

เลือดของตัวเองกันดูนะคะ เพราะแม้แต่ละคนจะมีปัญหาที่แตกต่างกัน แต่อายเชื่อว่าเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ การเป็นคนป่วยที่แข็งแรง และใช้ชีวิตให้มีความสุขในแบบที่เราเป็น อยู่กับคนที่เรารักและรักเราไปได้นาน ๆ จริงไหมล่ะค่ะ ^_^

อ่านจบแล้วอย่าลืมแชร์ให้เพื่อน ๆ ด้วยนะค้าา

ข้อมูลอ้างอิง :

หนังสือ คู่มือ แปลผลตรวจเลือด เล่ม 1
หนังสือ คู่มือ แปลผลตรวจเลือด เล่ม 2


12 thoughts on “7 ค่าผลเลือดสำคัญ ที่ผู้ป่วยโรคไตต้องดูเป็น

  1. เป็นบทความที่มีประโยชน์มากๆสำหรับคนทั่วๆไปสามารถอ่านแล้วเข้าใจทันที
    ขอบพระคุณมากๆค่ะ

    • ยินดีมาก ๆ เลยค่ะ ขอบคุณ คุณทิพย์ ที่ติดตามด้วยนะคะ ^_^

  2. ก่อนรักษา ค่า BUN=120 ค่า Creatinine=20.8 รักษาโดยการฟอกไต ฟอกมาแล้ว 3-4 เดือนแล้ว
    ตอนนี้เหลือ ค่าBUN=64 ค่า Creatinine=18.5 เลยอยากทราบว่าผมจะมีโอกาสได้หยุดฟอกไหมครับ
    ถ้าค่ากลับเข้ามาในเกณฑ์ปกติ และฉี่ปกติดีทุกอย่างครับ

    • โอกาสหยุดฟอกจะขึ้นกับสาเหตุที่เป็นนะคะ ถ้าเกิดเรามาฟอกไต จากสาเหตุว่าเป็นไตวายชนิดเฉียบพลัน แบบนี้มาฟอกไตแค่ชั่วคราวก็มีโอหกาสหยุดฟอกได้ค่ะ^^

  3. ขอบคุณน้องแายที่แบ่งปันข้อมูลดีกับทุกคนครับ เป็นกำลังใจให้ คุ้กกี้ที่สั่งไปได้รับแล้วนะครับ อร่อยดี

  4. ผมป่วยเป็นโรคไตเสื่อมขั้นที่3 จากการได้รับผลข้างเคียงจากการทานยาลดความดันกับยาลดไขมัน เมิ่อเดือนมกราคม61 ถ้าผมดูแลตัวเองจนค่าเลือดต้างๆเข้าสู่ค่าปกติทุกอย่าง แสดงว่าผมหายป่วยจากไตเสื่อมหรือปล่าวครับ หรือแค่ช่วยชลอไม่ให้ไตเสื่อมเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้นไม่มีทางรักษาหายเหมือนคนที่ป่วยเป็นเบาหวาน ขอบคุณครับ

  5. เปลี่ยนไตมาหลายปีแล้ว สามารถบริจาคโลหิตได้หรือไม่ครับ

  6. เยี่ยมมกๆ เลยครับ…บทความนี้เป็นความรู้ที่มีประโยชน์ต่อผุ้ไม่ทราบและไม่มีความเข้าใจ มากๆเลยน๊ะครับ
    บางครั้งไป รพ แพทย์ ไม่ได้อธิบายไว้ละเอียด มากนัก

    ขอขอบคุณมากๆ เลยครับ

  7. อาหารที่ทำมีการปรุงรสชาติ คนฟอกไตทานได้ใช่มั้ยคะ เพราะตอนนี้มีปัญเรื่องกินมาก

Leave a Reply to จุฬาลักษณ์ Cancel reply